ภายหลังจากเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 ทางด้าน นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส. สุพรรณบุรี และประธานกรรมการประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM โดยจะต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตทุกครั้ง และจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. เป็นต้นไป เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
นายเสมอกันกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วยในเรื่องของการยืนยันตัวตนของผู้ทำรายการฝากเงิน และมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาช่องโหว่การธุรกรรมนี้ กลายเป็นข้อยกเว้น ไม่ต้องรายงาน ปปง. ทำให้มีการทำธุรกรรมการเงินผิดกฎหมาย
แต่ทั้งนี้จะขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ 3 ประเด็น คือ
1.ขั้นตอนที่ทางแบงก์ชาติประกาศออกมาเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือไม่ เพราะยิ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะเป็นการซ้ำเติมกันหรือเปล่า เพราะค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ประชาชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และหากประชาชนไม่มีบัตรดังกล่าว ก็จะต้องไปดำเนินการฝากเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งก็มีจะค่าบริการเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของผู้บริการอีก ซึ่งส่วนต่างตรงนี้จะตกแก่ประชาชน
2.สามารถให้ผู้ฝากเงินใช้บัตรประชาชนได้หรือไม่ เพราะบัตรประชาชนเป็นสมาร์ตการ์ด หากวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฝากแสดงการยืนยันตัวตน คิดว่าการใช้บัตรประชาชนจะตอบโจทย์สุด
หรือไม่เช่นนั้น หากประชาชนจะนำบัตรเดบิตและบัตรเครดิตมายื่นแสดงตัวเวลาไปทำธุรกรรมด้านอื่นๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ อันนี้ต้องเตรียมคำตอบให้ประชาชนด้วย
3.ความพร้อมของระบบ ข้อนี้สำคัญมากธนาคารต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของระบบรองรับการใช้งานจริงหรือไม่ เพราะหากบังคับใช้ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ ธนาคารหรือผู้ให้บริการจะต้องจัดสรรคิวในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ซึ่งคาดเดาได้เลยว่าการทางเดินทางไปทำธุรกรรมทางการเงินผู้ใช้บริการต้องเพื่อเวลา ทั้งนี้หลักการดังกล่าวยังเป็นการพาประชาชนย้อนยุคเดินถอยหลัง ไม่ใกล้เคียงแคมเปญของธนาคารต่างๆ ที่เคยประกาศออกมาว่าจะเดินหน้าทำธุรกรรมออนไลน์ สู่โลกดิจิทัล
โดยทั้งนี้นายเสมอกันได้ยกตัวอย่างข้อความที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชียล ในประเด็นดังกล่าวว่า “จะเก็บค่าบัตรรายปีก็บอกเค้าไปคับ” “รู้นะคิดอะไรอยู่” หรือ “บัตรประชาชน มีเพื่อ?” “เราหมดงบตอนทำ Smart Card บัตรปชช. ไปเท่าไหร่ นะคะ เราใช้ประโยชน์อันใดจากบัตรนี้ได้บ้าง 5555”
ดังนั้นจึงเป็นการสะท้อนว่าประชาชนกำลังจับจ้อง และถามหาความสมเหตุสมผลของมาตรการและนโยบายที่ออกมา ซึ่งการออกนโยบายดังกล่าวมีเจตนาเพื่อรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนจริง แต่ก็ควรเป็นนโยบายที่คิดให้รอบด้านและจะต้องไม่เพิ่มภาระให้อีก โดยนายเสมอกัน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "คนหาเช้ากินค่ำ เค้าไม่ฝากเงินจำนวนเยอะหรอก เพราะเค้าไม่มีเงิน แล้วต้องมาโดนค่าธรรมเนียมต่างๆอีก จะไหวมั้ย"