กีรติ กิจมานะวัฒน์ ชนะ
คะแนนสูงสุด แบบไม่พลิกโผ ขึ้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ทอท. ต่อจาก นิตินัย ศิริสมรรคการ
ประกาศผลการสรรหาไปเรียบร้อยแล้วสำหรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT โดย “กีรติ กิจมานะวัฒน์” เป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์อีก 3 รายคือ นางฉฎาณิศา ชำนาญเวศ , นายพรประสิทธิ์ เด่นโมฬี และนายวิทยา พันธุ์มงคล
เรียกว่าเป็นการสรรหาที่ไม่มี “พลิกโผ” สำหรับ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สาย
งานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. เป็นบุคคลที่หลายฝ่ายชี้ไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็นตัวเต็งที่จะได้รับการสรรหามากที่สุด
โดยให้ข้อมูลว่า “กีรติ” นั้นเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด)
แต่งตั้งให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. เมื่อเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้เข้ามาขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ภายใต้นโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ ของ ทอท.ด้วย
การแต่งตั้ง “กีรติ” เข้ามารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. ท่ามกลางการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 10 จำนวนกว่า 10 คนในปีนั้น มีเสียงร่ำลือกันว่า สายการเมืองหรือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจัดสรรมาเพื่อรอเข้ามารับช่วงบริหารต่อจาก “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่มีกำหนดครบวาระเดือนเมษายน 2566 นี้
เส้นทางการทำงาน กีรติ กิจมานะวัฒน์
นายกีรติ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ หลายตำแหน่ง อาทิ
ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด
ที่ปรึกษาสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด
และเป็นที่รู้จักในวงการบริษัทที่ปรึกษาที่รับสัญญางานจ้างจากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค โครงการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โครงการต่อสัญญาทางด่วน ฯลฯ
ประวัติการศึกษา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว และจบปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว
ที่มา https://www.prachachat.net/tourism/news-1180323