ซีวา ซองเต แอนิมาเล เรียกร้องทุกฝ่ายเร่งพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อปกป้องสุขภาพสัตว์ ในงานวิฟ เอเชีย ประจำปี 2566
ซีวา ซองเต แอนิมาเล (Ceva Sante Animale) บริษัทสุขภาพสัตว์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งดำเนินงานใน 110 ประเทศ ได้เข้าร่วมงานวิฟ เอเชีย (VIV Asia) ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยในวันนี้ (7 มี.ค.) หรือหนึ่งวันก่อนเปิดงานวิฟ เอเชีย ทางบริษัทซึ่งยึดมั่นในแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ได้จัดงานประชุมสัมมนา "วันนวัตกรรมซีวา" (Ceva Innovation Day) ซึ่งมีการกล่าวสุนทรพจน์หลักโดยคุณมาร์ค ปริคาซกี (Marc Prikazsky) ประธานและซีอีโอ โดยมุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการขยับจากการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual thinking) ไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนวัตกรรม เพื่อจัดการกับความท้าทายใหญ่หลวงนานัปการที่โลกกำลังเผชิญ
วันนวัตกรรมซีวา: พลังแห่งนวัตกรรม
วันนวัตกรรมซีวารวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาจากอุตสาหกรรมสุขภาพสัตว์ และในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานต่อหน้าผู้เข้าร่วมกิจกรรม 600 คน คุณมาร์ค ปริคาซกี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมกันจัดการกับความท้าทายที่สำคัญ 3 ประการ ซึ่งหากเพิกเฉยก็อาจนำพาเราไปสู่อนาคตที่มืดมน ดังนี้
การรับมือภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ซีวามุ่งมั่นที่จะ "ขับเคลื่อนนวัตกรรมสุขภาพสำหรับสัตว์ทุกชนิด เพื่ออนาคตของโลกที่หลากหลายของเรา" ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายทางธุรกิจของบริษัท ด้วยเหตุนี้ นับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่บริษัทได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่อุทิศตนเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่า ตั้งแต่โคอาลาในออสเตรเลียไปจนถึงนกอัลบาทรอสเกาะอัมสเตอร์ดัมในมหาสมุทรแปซิฟิกอันห่างไกล ดังที่องค์การสหประชาชาติเตือนไว้ว่าสายพันธุ์พืชและสัตว์มากถึง 1 ล้านสายพันธุ์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ เมื่อไม่นานมานี้ ซีวาจึงจัดตั้งกองทุนวิจัยสัตว์ป่าซีวา (Ceva Wildlife Research Fund) เพื่อพัฒนาโซลูชันสุขภาพสำหรับสัตว์ป่า
การเตรียมป้องกันโรคระบาดในอนาคต โดยมุ่งเน้นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน: มีการประมาณการว่า 75% ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในมนุษย์นั้นมาจากสัตว์ ดังนั้น ซีวาจึงสนับสนุนข้อเรียกร้องจากกลุ่มแนวร่วมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedeness หรือ CEPI ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศ G7 และ G20 ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อร่นเวลาการพัฒนาวัคซีน ซึ่งการระบาดของไข้หวัดนกในขณะนี้ จนแพร่กระจายไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและคนจำนวนหนึ่ง ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความจำเป็นที่ต้องเร่งมือ ในกรณีนี้ เวกเตอร์มูน เอไอ ( Vectormune AI) ซึ่งเป็นวัคซีนอ้างอิงสำหรับควบคุมเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสายพันธุ์ H5 ได้ถูกนำไปใช้งานและขึ้นทะเบียนในหลายประเทศ รวมถึงในเอเชีย โดยได้รับการยอมรับในแง่ของการป้องกันข้ามสายพันธุ์และความสามารถในการลดการแพร่กระจายของไวรัส วัคซีนนี้ควรเป็นพื้นฐานของการควบคุมไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรงและการปกป้องความปลอดภัยทางชีวภาพ นอกจากนี้ ความสำเร็จอันยอดเยี่ยมในด้านวิทยาศาสตร์และการสาธารณสุขจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังชี้ให้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ความจำเป็นของระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืน: ในขณะที่จำนวนประชากรโลกกำลังไต่สู่ระดับ 9 พันล้านคน เราจำเป็นต้องสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นมากขึ้นซึ่งรับประกันความมั่นคงทางอาหาร สามารถปรับให้สอดรับและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างความมั่นใจว่าเราไม่ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปมากกว่านี้ ในรายงานความยั่งยืนซึ่งจัดทำโดย เฮลท์ ฟอร์ แอนิมอล (Health for Animal) หรือ สมาคมสุขภาพสัตว์โลก (Global Animal Health Association) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ออกซ์ฟอร์ด แอนะลีติกา (Oxford Analytica ) ประมาณการว่า ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สูญเสียไปในแต่ละปีเพราะโรคภัยต่าง ๆ สามารถเลี้ยงประชากรได้มากถึง 1.6 พันล้านคน
นอกจากนี้ ประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังไม่อาจเข้าถึงโปรตีนจากสัตว์ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ภาวะทุพโภชนาการซึ่งแพร่หลายในเอเชียส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อพัฒนาการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ ซีวาจึงได้ก่อตั้งโครงการ ซีอาวเออร์ฟิวเจอร์ (CourFuture) เพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่เลวร้ายของภาวะแคระแกร็นในเด็ก ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของโปรตีนจากสัตว์ปีก (ไข่และไก่)
"นวัตกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน" คุณมาร์ค ปริคาซกี ประธานและซีอีโอของซีวา กล่าว "เรายึดมั่นในพันธกิจที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมไปข้างหน้าด้วยแนวทางองค์รวมที่ยั่งยืนและมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องมีวิธีการดำเนินการใหม่ ๆ เราต้องคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีที่เราทำงานร่วมกัน ทั้งระหว่างภาคส่วนและระหว่างพรมแดน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นสำหรับคนทุกชีวิต สัตว์ทุกชนิด และโลกของเรา"
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaipr.net/general/3310481