วันที่ 14 มิ.ย. 2555 นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมตลาดสดเทศบาลอุดรธานี ที่ผ่านมาตรฐานเป็นตลาดสดน่าซื้ อตามมาตรฐานของกรมอนามัย ว่า รัฐบาล โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาคุณภาพและสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย การเสียชีวิต โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยดำรงชีวิตหลัก ต้องกินทุกวัน พร้อมที่จะเป็นตัวสร้างและทำลายสุขภาพตลอดเวลา จึงได้รณรงค์และเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ตั้งแต่ปี 2542 และเร่งพัฒนาแหล่งจำหน่ายทั้งตลาดสด ร้านอาหาร และแผงลอยทั่วประเทศ ให้สะอาดและปลอดภัย โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งควบคุมมาตรฐานที่แหล่งผลิต เรียกว่า ควบคุมตั้งแต่ฟาร์ม จนถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) มุ่งสู่การเป็นครัวโลก ให้ประชาชนได้บริโภคอาหารสะอาดปลอดภัย ปราศจากสารพิษตกค้าง และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อน
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจของกรมอนามัยล่าสุด ทั่วประเทศมีตลาดสดทั้งหมด 1,533 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ แล้ว 1,302 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 แบ่งเป็นระดับดี จำนวน 1,074 แห่ง และระดับดีมาก จำนวน 228 แห่ง ตลาดที่ผ่านเกณฑ์จะติดป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นตลาดสดน่าซื้อ ส่วนร้านอาหารและแผงลอยทั่วประเทศมีทั้งหมด 139,144 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จำนวน 119,955 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86 ยังเหลืออีกประมาณร้อยละ15 ที่ต้องเร่งพัฒนา คาดว่าจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างช้าภายในปี 2556
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้สุ่มตรวจสารปนเปื้อน 7 ชนิด ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สาร กันรา ยาฆ่าแมลง น้ำมันทอดซ้ำ และตรวจคุณภาพน้ำบริโภค น้ำแข็ง ตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและสารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น อะฟลาท็อกซิน กรดน้ำส้ม สีสังเคราะห์ สารกันเสียในปี 2554 รวม 435,740 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 96 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย พบปนเปื้อนเพียง 15,241 ตัวอย่าง โดยตรวจพบจุลินทรีย์ในอาหารปรุงเสร็จพร้อมบริโภค น้ำดื่ม น้ำแข็ง ไอศกรีม มากที่สุด จะเร่งรัดให้ทุกจังหวัดกวดขันให้ปลอดภัยทั้งหมด
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า ในการดำเนินงานให้อาหารปลอดภัย จะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักด้านสุขลักษณะ ความสะอาด เช่น ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนมือ แต่งกายสะอาด อาหารมีการปกปิด ส่วนผู้บริโภคขอให้เลือกซื้ออาหาร จากตลาด หรือร้านอาหารที่ผ่านการรับรองได้รับป้ายตลาดสด น่าซื้อ หรือร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรืออุ่นให้เดือดก่อนนำมารับประทาน ล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหาร และใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันเชื้อโรค
สำหรับจังหวัดอุดรธานี พบว่าดำเนินงานอาหารปลอดภัยได้เข้มแข็งมาก มีตลาดสด 45 แห่ง ผ่านเกณฑ์ได้รับรองเป็นตลาดสด น่าซื้อ 41 แห่ง เหลืออีก 4 แห่งอยู่ระหว่างปรับปรุง ส่วนร้านอาหาร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ร้อยละ 90 จากทั้งหมด 1,227 แห่ง แผงลอยจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 80 จากทั้งหมด 4,041 แห่ง.