ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา ราย
งานว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคม 25 แห่ง ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “คำถามที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล
ต้องตอบต่อสาธารณะ : กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง”
โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากกรณีน้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีซีจี รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 และในวันนี้ (5 สิงหาคม 2556) ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อซักถามฝ่ายจัดการของพีทีทีซีจีถึงกรณีดังกล่าว
องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามท้ายแถลงการณ์นี้มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความไม่ชัดเจนของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงขอเรียกร้องให้ พีทีทีจีซี ตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ด้วยข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานต่อสาธารณะ โดยด่วนที่สุด
ประเด็นปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล
1. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่รั่วไหลเท่ากับเท่าไหร่ (แสดงหลักฐาน)
2. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่คงเหลือในเรือ (แสดงหลักฐาน)
3. เหตุใดน้ำมันดิบจึงเข้าสู่อ่าวพร้าว (อธิบายโดยละเอียด)
4. น้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล ได้ถูกกำจัดและแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด อาทิ ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (แสดงหลักฐานและอธิบายโดยละเอียด)
ประเด็นสาเหตุและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน
5. ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลทั้งหมดกี่ครั้ง มีการจัดการอย่างไร
6. การรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ หรือเกิดจากอุปกรณ์เสื่อมคุณภาพ
7. ระบบการควบคุมการปิดวาว์ลแบบอัตโนมัติเป็นอย่างไร วาล์วถูกปิดหลังจากการรั่วไหลเป็นเวลานานเท่าใด
8. นับแต่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ตลอดปฏิบัติการ ทั้งในทะเลและบนฝั่ง ได้มีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง เมื่อใด ใครเป็นผู้ควบคุม/สั่งการ
9. ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร เหตุใดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการอุบัติภัยของบริษัทจึงมีน้อยมาก
10. เหตุใดจึงต้องใช้บุคลากรจากหน่วยงานนอกเครือ ปตท. (เช่น กองทัพเรือ จิตอาสา) เข้าไปปฏิบัติการแทน เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอง ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในการรับมือต่อเหตุ
11. บุคลากรจากภายนอกมทั้งหมดได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการรับมือต่อเหตุ และการจัดการสารอันตรายหรือไม่ อย่างไร และได้รับการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด
12. ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการนี้ (รวมถึงการยืมตัวบุคลากรจากหน่วย
งานราชการต่างๆ)
13. บริษัทต้องเปิดเผยและชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการลดและขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ หรือไม่
ประเด็นขั้นตอนการระงับเหตุก่อนนำไปสู่การตัดสินใจใช้สารเคมี
14. เหตุใดจึงใช้ทุ่นขนาดสั้น (120 เมตร) เพื่อบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันก่อนใช้สารเคมีโปรยเท่านั้น – เหตุใดจึงไม่มีการใช้ทุ่น “ขนาดยาว” ล้อมคราบน้ำมันที่รั่วไหลเพื่อ “ดูดกลับ” (ดังตัวอย่างการซ้อมรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลอลาสก้า ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมาทำลายสิ่งแวดล้อม)
15. การกำจัดคราบน้ำมันโดยการใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ควรใช้เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อไม่มีแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่าเท่านั้น – บริษัทควรชี้แจงเหตุผลและที่มาของการตัดสินใจลัดขั้นตอนโดยใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มต้น และใช้ในปริมาณที่มากถึง 32,000 ลิตร
ประเด็นสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน
16. การขออนุญาตใช้สารเคมีจำนวน 25,000 ลิตร จากกรมควบคุมมลพิษ มีการคำนวณหรือประมาณการณ์อย่างไร
17. ปริมาณสารเคมีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้คือ 5,000 ลิตร แต่ระบุว่าใช้ไปทั้งหมด 32,000 ลิตร – เหตุใดจึงมีการใช้โดยไม่มีการขออนุญาต
18. สารเคมีทั้งหมดที่ใช้มีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง – (แสดงหลักฐานการได้มา ทั้งใบเสร็จและใบยืม)
19. ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด อาทิ วันและช่วงเวลาที่โปรย สถานที่โปรย ลักษณะวิธีการโปรยเป็นอย่างไร
20. ต้องแสดงข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
21. น้ำมันที่เก็บกวาดไปจากอ่าวพร้าว ซึ่งแจ้งว่าถูกนำไปจัดการที่มาบตาพุด ต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะนำไปกำจัดที่ไหนและอย่างไรบ้าง
การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และมีความสำคัญยิ่งต่อการหาสาเหตุการปนเปื้อนที่แท้จริง การประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในระยะยาว การเยียวยาความเสียหายที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงมาตรการป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ที่มา:
สำนักข่าวอิศรา