เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนกระทรวงต่างๆ ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมไข้เลือดออก เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียนจะตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี โดย 10 ประเทศในอาเซียนจะร่วมกันรณรงค์ไปพร้อมกัน โดยจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ ปีนี้ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเชิญตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหาทางสู้กับโรคไข้เลือดออกให้สำเร็จ ด้วยคำขวัญ Family Ownership DENGUE “ทุกครอบครัวร่วมใจ หยุดยั้งภัยไข้เลือดออก”
นพ.วีรพันธ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกครั้งนี้ประกอบด้วย 8 หน่วยงานระดับกระทรวง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร จับมือกันจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยสาระสำคัญของ MOU นี้คือ 1.การร่วมมือดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และป้องกันควบคุมประชาสัมพันธ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบ 2.ความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือในด้านทรัพยากร วิชาการ และการบริหารจัดการ 3.บันทึกความร่วมมือนี้อาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งแปดหน่วยงาน 4.บันm7ร่วมมือฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2558 – 15 มิถุนายน 2562
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มที่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงสุดคือ นักเรียนร้อยละ 44 รองลงมาได้แก่ รับจ้าง ร้อยละ 22 และอาชีพอื่นๆร้อยละ 20 ตามลำดับ ผู้ป่วยเพศชายต่อเพศหญิง คิดเป็นอัตราส่วน เท่ากับ 1:1 หมายถึงเด็กก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ของโรคนี้ จากปัจจัยที่เด็กมีภูมิต้านทานโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ มีวิธีที่ต้องมีโอกาสถูกยุงลายพาหนำโรคไข้เลือดออกมากกว่ากลุ่มอื่น การนอนกลางวันเป็นเวลาที่ยุงลายออกหากิน และการวิ่งเล่นซ่อนแอบในมุมมืดของเด็กๆเป็นที่ที่ยุงลายเกาะพักรอเหยื่อ ทั้งนี้ใช่ว่าผู้ใหญ่จะไม่ป่วยด้วยโรคนี้ และเมื่อป่วยมักจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กด้วยซ้ำไป จากเหตุปัจจัยที่ไม่ค่อยได้นึกถึงว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก กว่าจะรู้อาการก็หนักเสียแล้ว และการรับเชื้อไวรัสเด็งกีซ้ำรอบที่ 2-4 มักจะเป็นเชื้อที่ต่างไปจากชนิดที่ตัวเรามีภูมิต้านทานอยู่เดิมเป็นสาเหตุให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น โรคไข้เลือดออกจะระบาดมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี ซึ่งสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปีนี้ก็เช่นกัน มีรายงานมาตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา 1.72 เท่า ผ่านมา 5 เดือนกว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 15,000 ราย เสียชีวิต 10 ราย และเริ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงฤดูฝน เพราะน้ำฝนที่ใส และนิ่งในภาชนะต่างๆ รวมทั้งเศษภาชนะที่ทิ้งขว้างไว้รอบบ้านหรือที่สาธารณะ คือแหล่งเพาะพันธ์ของลูกน้ำยุงลายอย่างดี คนเรานั้นก็ปล่อยปะละเลย ไม่ใส่ใจกลัว เพราะคิดว่ายุงกลางวันไม่มีพิษภัย และเมินเฉยต่อการกำจัดลูกน้ำยุงลายแหล่งเพาะพันธ์ใกล้ตัว รออาสาสมัครสาธารณะสุขมาหยอดทรายซึ่งเป็นสารเคมีที่มีข้อจำกัด รอเจ้าหน้าที่มาพ่นเคมี พ่นยาฆ่ายุงซึ่งส่วนใหญ่กำจัดได้เพียงยุงในท่อระบายน้ำ หรือตามพุ่มไม้ ยุงลายในบ้านยังลอยนวลอยู่สบาย นำโรคไจ้เลือดออกได้ปีละหลายหมื่นจนทะลุแสนราย
ในโอกาสนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมรณรงค์ BIG CLEANING DAY “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการเก็บ คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโล่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บน้ำให้สนิทมิดชิดไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบๆบ้านและชุมชนที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ซึ่งการรณรงค์ให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออกนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชนทั่วไป โดยร่วมมือกันทำกิจกรรมในพื้นที่ 6 ร. ดังนี้ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน (สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/อุตสาหกรรม และ6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์ โสภณ กล่าวปิดท้าย