เมื่อประเทศไทยมาถึงจุดที่คำว่า “Single Gateway” มีผลทำให้เกิดเสียงดังระงม พูดถึงไปทั่วประเทศไทยเพราะมีหลายคนที่คัดค้าน และก็มีหลากคนที่สนับสนุน ซึ่งความจริงเป็นอย่างไร เรารวบรวมข้อมูล และมุมมองต่อ “Single Gateway” มาให้พิจารณากันอย่างถ่องแท้…
ประตูเปิดโครงข่ายอินเทอร์เน็ต Single Gateway คืออะไร
Single-Gateway-คืออะไร
คำว่า Single Gateway ต้องแยกทั้ง 2 คำออกจากกันก่อน โดยคำว่า "Gateway" หมายถึง ประตูทางผ่าน หรือศัพท์ในวงการไอที หมายถึง ประตูเชื่อมระหว่างเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่ง และเป็นตัวที่เชื่อมต่อโครงข่ายของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการ Gateway อยู่มากมาย เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่เมื่อเติมคำว่า "Single" เข้าไป กลายเป็น Single Gateway ก็จะแปลได้ว่า จะสามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตผ่านประตูแค่บานเดียว นั่นก็จะเท่ากับการมีผู้ให้บริการเครือข่ายเพียงเจ้าเดียว ทำให้สามารถควบคุม ดักจับข้อมูลเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านประตูบานนี้ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
ประเทศที่ใช้ Single Gateway
ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ Single Gateway คือ ลาว จีน เกาหลีเหนือ และประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่ภาครัฐสามารถควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนได้สะดวก โดยเฉพาะจีนที่รัฐบาลควบคุมไม่ให้ประชาชนในประเทศเล่นสื่อโซเชียลอย่าง Facebook รวมถึงการห้ามใช้ Google นั่นเอง และแน่นอนว่าในอดีตประเทศไทยก็เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ Single Gateway เช่นกัน ในสมัยแรก ๆ ที่การใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยเวลาที่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทุกจุดเชื่อมต่อก็จะต้องมารวมกันที่ กสท. ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียว แต่หลังจากเกิดวิกฤตไอเอ็มเอฟ ในปี 2540 ก็ได้มีการสั่งให้ประเทศไทยเปิดเสรีโทรคมนาคม ทำให้ Gateway ในไทยเพิ่มมากขึ้นจนตอนนี้มีถึงสิบกว่า Gateway แล้ว เป้าหมายแท้จริง คือ ต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิตอลในภูมิภาค
Single Gateway จะมีผลดีในแง่ที่รัฐบาลต้องการจะปิดกั้นหรือระงับยับยั้งเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ที่เป็นภัยต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นหมิ่นสถาบัน สื่อลามก เว็บการพนัน Single Gateway จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันการเข้าไปควบคุมเว็บไซต์เหล่านี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. กล่าวว่า แท้จริงแล้วเป้าหมายของรัฐบาล คือ ต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิตอลในภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้ช่องทางเชื่อมต่อของไทย แทนที่จะเป็นเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าไทยยังมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านนี้ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ควรจะเรียก Single Gateway ว่าเป็น “ฮับ” หรือ "ศูนย์กลางดิจิตอล" จะเหมาะสมกว่า โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม (จำกัด) หรือ CAT จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ฮับ” และเมื่อมีความพร้อมก็จะเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอยู่ราว 9 รายให้หันมาเลือกช่องทางนี้
นอกจากนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ไม่ได้ปฏิเสธเป้าหมายเรื่องความมั่นคงของรัฐในโลกไซเบอร์ ที่สร้างศูนย์กลางช่องทางจราจรดิจิตอลที่ทำให้ง่ายต่อการรับมือแล้ว แต่ยังต้องอาศัยกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงไซเบอร์มารองรับการทำงานของรัฐ เพื่อป้องกันการโจมตีและอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ รวมถึงทำให้มีความเป็นสากลเพื่อสอดคล้องกับหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้แล้ว เช่น สหรัฐฯ โซเชียลถล่มรัฐได้ คือ ความเข้าใจที่ผิด! ความจริงเป็นอย่างไร แล้วควรหรือไม่ที่แสดงท่าทีเช่นนี้
นายนรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ได้เปิดเผยเรื่องประเด็นที่เว็บไซต์ภาครัฐโดนถล่ม ถึงข้อเท็จจริงของมือที่ทำให้เว็บไซต์ล่มนั้น ไม่ใช่ประชาชน
โดยนายนรินทร์ฤทธิ์กล่าวว่า “เว็บไซต์ภาครัฐโดนถล่ม ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจว่า คนไทยหลักแสนคนมาเปิดเว็บไซต์แล้วคลิกรีเฟรช แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ และนี่เป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น หากเข้าไปดู Traffic กันจริงๆ แล้ว จะพบว่า Traffic มาจากยุโรปทั้งสิ้น โดยยิงมาจากเนเธอร์แลนด์ ประเทศทางยุโรป เพราะฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าคนไทยกว่าแสนคนเปิดหน้าเว็บแล้วรีเฟรช ส่งผลให้เว็บไซต์ภาครัฐล่ม คือ ผิดโดยสิ้นเชิง แสนคนมาคลิกในเวลาเดียวกันนั้น อันที่จริงแล้วทำอะไรเว็บเหล่านี้ไม่ได้ เพราะอันที่จริงเรื่องนี้มีคนที่เล่นอยู่ข้างหลัง โดยใช้วิธีเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่ต่างประเทศ แล้วยิงถล่มกลับเข้ามาในไทย” นายนรินทร์ฤทธิ์ กล่าวตามข้อเท็จจริง