รุกรัฐตั้งศูนย์ Public Data Bureau ผชช.การเงินหวั่นแปรสภาพเป็น โปลิต บูโร ล้วงตับ ปชช.
ธปท.รุกรัฐตั้งหน่วยงานบริหารจัดเก็บข้อมูลการเงิน Public Data bureau เพิ่มประสิทธิภาพบริหารข้อมูลการเงิน การคลัง รองรับเศรษฐกิจดิจิตอล ผู้เชี่ยวชาญการเงินเตือนระวังถูกแปรสภาพหน่วยงานเป็น "โปลิต บูโร" ล้วงตับธุรกรรมการเงินภาคธุรกิจ-ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือกับนายอุตตม เสาวนายน รมว.ไอซีที เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดเก็บข้อมูลการเงิน หรือ Public Data Bureau โดยระบุว่า เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลการเงินของประเทศในปัจจุบันค่อนข้างกระจัดกระจาย ขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลการเงินไม่เป็นระบบ ไม่สามารถนำข้อมูลการเงินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลนั้น ธปท.เห็นว่าข้อมูลการเงินและธุรกรรมต่างๆ จะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และภาครัฐหรือธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลในการประเมินวิเคราะห์และกำหนดนโยบายด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งในการดำเนินนโยบายภาครัฐและธุรกิจภาคเอกชน ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติเดิม ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะการเข้าเป็นสมาชิกยังเป็นแบบภาคสมัครใจและยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อาทิ การเดินบัญชีผ่านการโอนเงิน ประวัติการใช้จ่าย การซื้อสินค้าผ่าน e-commerce ที่จะช่วยให้สถาบันการเงินมีข้อมูลในการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากยังขาดหน่วยงานจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้สถาบันการเงินในปัจจุบันมีข้อมูลไม่เพียงพอในการประเมินศักยภาพและความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ทำให้บางกรณีสถาบันการเงินตัดสินใจไม่ให้สินเชื่อ หรือกำหนดดอกเบี้ยสูงไว้ก่อนเพื่อกันความเสี่ยงเป็นภาระของการประกอบธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงเห็นว่า หากมีการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดเก็บข้อมูลการเงินของประเทศขึ้นมา นอกจากจะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เป็น “บิ๊ก ดาต้า” แล้ว ในอนาคตยังจะทำให้ภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลในระดับจุลภาคดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุด เช่นการดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การจัดเก็บภาษี รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังได้อย่างทันเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อเสนอจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดเก็บข้อมูลการเงินของประเทศข้างต้น ยังคงสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรเป็นหน่วยงานในสังกัดใด กระทรวงคลัง ธปท.หรือเป็นหน่วยงานอิสระ และจะเชื่อใจรัฐได้อย่างไรว่าจะไม่ไปทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้งยังเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นการล้วงลูก เพราะการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ เงินฝากไปจนถึงปลายน้ำเงินกู้ ข้อมูลธุรกิจบนมือถือ พร้อมเพย์ การชำระค่าสินค้า อีคอมเมิร์ซต่างๆ เหล่านี้อาจถูกมองว่าภาครัฐกำลังมีความพยายามจะล้วงลูกธุรกิจกรรมทางการเงินของบุคคลที่อาจขัดกฎหมายได้
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมา หลายภาคส่วนยังคงมีการเรียกร้องให้รัฐ และ ธปท.ได้ออกกฎหมายป้องกันความเป็นส่วนตัวเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็น data privacy มาโดยตลอด เนื่องจากพบว่า บางหน่วยงานมีการล้วงลูกข้อมูลที่เป็นธุรกรรมทางการเงินของบุคคลหรือธุรกิจโดยไม่มีคำสั่งศาล การที่ ธปท.กลับลุกขึ้นมาเสนอให้รัฐจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมาจึงทำให้อาจถูกมองว่ารัฐกำลังจะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อล้วงธุรกรรมทางการเงินของบุคคลเอาได้
“น่าแปลกที่เหตุใด ธปท.ถึงออกโรงผลักดันเรื่องขึ้นมา ทั้งที่ไม่ใช่บทบาทตนเอง เพราะการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง แต่เหตุใด ธปท.จึงต้องการรับรู้ไส้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย แม้จะอ้างเพื่อให้การวางกรอบนโยบายการเงินมีความสมบูรณ์ก็ตาม เอาแค่นโยบายการเงินเรื่องดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้าย ธปท.ทำได้ดีหรือยัง เพราะทุกวันนี้ ธปท.จัดการกับปัญหาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่า fee ของธนาคารพาณิชย์ได้ดีแล้วหรือยัง ก่อนจะไปล้วงลูกนโยบายการคลัง ภาษี และเหนือสิ่งอื่นใดข้อเสนอจัดตั้งศูนย์ข้อมูลดังกล่าวยังอาจเป็นดาบ 2 คม ที่อาจแปรสภาพไปเป็นหน่วยงาน โปลิต บูโร เป็นเครื่องมือของรัฐล้วงลูกธุรกรรมส่วนตัวประชาชนและภาคธุรกิจ ตั้งแต่เงินเข้า ยันเงินออก จ่ายค่าน้ำไฟ สินค้า โมบายแบงก์กิ้งเอาได้”