2 กุมภาพันธ์ 2560 จ. น่าน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เดินหน้าส่งเสริมการประชุม สัมมนา ในประเทศไทย หรือ โดเมสติกไมซ์ (Domestic MICE) สนองนโยบายรัฐบาล สานต่อยุทธศาสตร์ประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ เปิดตัว “โครงการประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” ส่งเสริมประชุมสัมมนา พื้นที่โครงการพระราชดำริ ชู “น่าน” จุดหมายจัดงานอินเซนทีฟไมซ์กลุ่มลูกค้าองค์กร
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า “โดเมสติกไมซ์” หรือ การส่งเสริมประชุมสัมมนาและการแสดงสินค้าในประเทศไทย เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและเป็นกลไกในการพัฒนาชาติที่สำคัญ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจัดประชุม สัมมนาในประเทศไทย โดยในปีงบประมาณ 2559 นั้น มีนักเดินทางกลุ่มโดเมสติกส์ไมซ์จำนวน 28.85 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้สูงกว่า 73,000 ล้านบาท
ปี 2560 เป็นปีที่ทีเส็บให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมธุรกิจดีไมซ์ โดยวางแผนงาน 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการ 1 สร้างความต่อเนื่องของ แคมเปญ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” เน้นส่งเสริมกิจกรรมดีไมซ์ใน 5 พื้นที่เมืองไมซ์ซิตี้ ทั้งกรุงเทพมหานคร พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ตลอดจนส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า หรือ D-Exhibition โดยให้สร้างสรรค์งานแสดงสินค้าใหม่ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ (Invent) ยกระดับรูปแบบ มาตรฐานการจัดงานแสดงสินค้าระดับท้องถิ่นให้เป็นงานระดับภูมิภาค (Upgrade) และการกระจายงานแสดงสินค้าในประเทศที่ประสบความสำเร็จไปจัดในภูมิภาคต่าง ๆ (Clone) โครงการ 2 สนับสนุนและส่งเสริมการจัดกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ การเข้าไปศึกษาดูงาน ภายใต้โครงการ “ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” ซึ่งเน้นการนำเสนอพื้นที่ในโครงการพระราชดำริที่มีศักยภาพในการรองรับการประชุมสัมมนา โครงการ 3 ส่งเสริมการตลาด Destination Promotion กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนา ด้วยการค้นหาข้อมูลสถานที่ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม สัมมนาและ Incentive Trip ภายในประเทศจากแหล่งข้อมูลของทีเส็บ ซึ่งมีเว็บไวต์ www.dmiceplanner.com เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายนำไปวางแผนการจัดงานไมซ์ในองค์กร และ โครงการ 4 ส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้าในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และจังหวัดที่มีศักยภาพรองรับตลาด GMS (อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้)
ภายใต้โครงการ “ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีเส็บกับมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 นำเสนอเส้นทางการจัดประชุมสัมมนาในโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาต่อทั่วประเทศ เสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง โดยปี 2560 มีแผนส่งเสริมการจัดงานไมซ์โดย “น่าน” เป็นหนึ่งในเมืองที่มีศักยภาพ ในการรองรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ มีสายการบินที่ให้บริการทั้งจากท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีโรงแรมที่สามารถรองรับกลุ่มประชุมได้ตั้งแต่ขนาด 50 – 500 คน มีห้องพักในโรงแรมขนาดใหญ่หลายที่ ที่สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าไมซ์รวมมากกว่า 300 ห้อง และยังมีโรงแรมขนาดเล็กที่รองรับกลุ่มการจัดงานขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่รองรับการจัดกิจกรรมไมซ์แบบหมู่คณะได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์กลุ่ม การจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม การจัดกิจกรรมเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับแนวคิดในการจัดงานไมซ์ที่ทีเส็บได้กำหนดไว้ตามคลัสเตอร์ของแต่ละพื้นที่
นายนพรัตน์ กล่าวต่อไปว่า “เราเปิดตัวเมืองน่านในฐานะเมืองไมซ์อินเซนทีฟ โดยนำคณะสื่อมวลชนในประเทศร่วมสัมผัสประสบการณ์จากการเยี่ยมชมเส้นทางใหม่ๆ ที่สามารถจัดงานประชุม สร้างความรู้ พร้อมกับการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะขององค์กรต่างๆ เริ่มจาก โครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ บ้านน้ำป้าก อ.ท่าวังผา ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาด้วยการนำแนวทางพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงฝายที่มีอยู่เดิม สร้างฝายใหม่ วางระบบท่อส่งน้ำ เนื่องจาก จ.น่าน มีปัญหาการทำลายป่าอย่างรุนแรง ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาใน จ.น่านแล้ว ยังนำแนวทางไปพัฒนาในจังหวัดอื่นๆ อาทิ อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี และเพชรบุรี ซึ่งโครงการนี้ยังมีศักยภาพในการรองรับการจัดประชุมเป็นหมู่คณะ ได้ประมาณ 50 ราย มีที่พักใน 2 รูปแบบ คือ การกางเต็นท์ภายในพื้นที่ของบ้านน้ำป้าก หรือ การพักร่วมกับชาวบ้านในรูปแบบโฮมสเตย์ พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับศึกษาดูงาน ได้แก่ เยี่ยมชมสภาพหลังการพัฒนาฝายน้ำเพื่อการเกษตร หรือการร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ กิจกรรมทำฝายชะลอน้ำร่วมกับชาวบ้าน การร่วมปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้น