โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมง ในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทย ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก จนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว
กรมประมงจึงได้มีโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเล โดยการจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันปัญหาจากเรืออวนรูน อวนลาก ที่เข้ามาทำประมงใกล้ชายฝั่งจนเกินไป และเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยปัจจุบันกรมประมงสามารถสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งทำการประมงได้แล้วรวม 584 แหล่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,063.13 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 20 จังหวัดชายทะเล
ความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง เกิดจากภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทำให้ปะการังตายเป็นบริเวณกว้าง การระบาดของปลาดาวหนามที่กินปะการังเป็นอาหาร ผลกระทบจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 และผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ปัญหาตะกอนดินจากการก่อสร้าง การปล่อยน้ำเสียจากชุมชน และสถานประกอบการที่ไหลลงสู่ทะเล จนทำให้เกิดความเสียหายกับปะการัง

ความร่วมมือระหว่างกรมประมง ทรู คอร์ปอเรชั่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (
ซีพี) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์จึงได้เกิดขึ้น จากการตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในพลังเพื่อขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยเริ่มที่การสร้างปะการังเทียม ซึ่งจะช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในท้องทะเลไทย และยังช่วยรักษาแหล่งอาหารของคนไทยได้อีกด้วย และภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือฯ ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ" (Sustainable Development Goals–SDGs) จึงมีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการประมงเพื่อความยั่งยืน และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยการนำร่องด้วยการสร้างปะการังเทียม ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลแล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทย และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรที่เป็นชาวประมงได้อีกด้วย
ปะการังเทียมที่สร้างจะเป็นแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.51.51.5 เมตร จำนวน 2,000 แท่ง ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 4 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ อ.ระโนด และอ.สะทิงพระ จ.สงขลา อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และ อ.เมือง จ. นราธิวาส
เชื่อว่าจากการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถเพิ่มพื้นที่ปะการังเทียมสำหรับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ และฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนดังเดิม และสร้างจิตสำนึกของทุกภาคส่วนให้ร่วมกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนต่อไป