มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่รู้จะถือเป็นการ “ตบหน้ากระบวนการยุติธรรม” ฉาดใหญ่หรือไม่?กับราย
งานข่าวของ “สำนักข่าวอิศรา” ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามในคำสั่งประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ 1/2562
แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ
โดยระบุเพื่อทำหน้าที่รวบรวมและกลั่นกรองข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในโครงการ EEC Project พร้อมให้จัดทำรายงานสรุปความเห็นพร้อมเหตุผลอ้างอิงได้ตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ (อ้างอิง https://www.isranews.org/isranews/77551-news77551.html )
โปรเจคยักษ์แสนล้าน กดปุ่มไฟเขียวผ่านตลอด จะเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้มีช่องยื่นอุทธรณ์ต่อนายกฯ ได้โดยตรง หลังจากถูกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนและบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลโครงการยักษ์นี้ด้วยเหตุผลสุดอึ้ง หลังจากส่งเอกสารข้อเสนอเพิ่มเติมล่าช้าไปจากกำหนดระยะเวลา 8 นาที และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 62 ยังถูกศาลปกครองกลาง “ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว” ก่อนมีคำพิพากษาด้วยอีก
คำสั่งของนายกฯ ในฐานประธานคณะกรรมการนโยบายฯ ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในท้ายที่สุดออกมารูปใด และไม่ว่าผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวจะออกมาในรูปใด แต่ก็ยากจะฝ่าปราการเหล็ก 3 ชั้นของอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชุดนี้ไปได้ และผลการพิจารณาคัดเลือกดังกล่าวก็แทบไม่มีความหมายใดๆ
ยิ่งหากได้พิจารณาขอบเขต อำนาจหน้าที่ของคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองฯ ด้วยแล้ว แทบจะเรียกได้ว่า เป็นการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก “ชุดใหม่” ขึ้นมาโดยตรงนั่นแหล่ะ เพราะไม่ว่าผลการพิจารณาคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อภิมหาโปรเจ็กต์มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทจะออกมาในรูปแบบใด ก็ยากจะฝ่าปราการของอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชุดนี้ไปได้
เชื่อว่าไม่นานหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะได้เห็นกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ กลุ่มนี้ประเดิมยื่นอุทธรณ์ จนนำไปสู่การล้มประมูลโครงการฯ หรือเปิดให้มีการทบทวนโครงการใหม่ตามมาอย่างแน่นอน! เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่กลุ่มทุนยักษ์รายดังกล่าววางไว้นั้น มีเป้าหมายที่จะผนวกทั้ง 3 โครงการอันประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และการพัฒนาเมืองใหม่ Smart City เข้าด้วยกัน ที่หากขาด “จิ๊กซอว์” โครงการใดไปก็ยากจะประสบผลสำเร็จ!!!
ซุ่มเงียบไฟเขียวสารเคมีอันตราย..เพื่อใคร?ไม่เพียงแต่กรณีการออกคำสั่ง “คัดง้าง” คำสั่งศาลข้างต้น ในห้วงเวลาเดียวกัน ยังมีข่าวที่ทำเอาเกษตรกรในระดับรากหญ้า พากันช็อคทั่วประเทศ เมื่อจู่ๆ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตร ได้ออกมาแถลงข่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศไฟเขียวการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด อันได้แก่ “พาราควอด, ไกลโฟเซต และคลอร์ไฟริฟอส” สารกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช ที่เดิม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” มีมติให้ยุติการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 และให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
อ่านเพิ่มเติม : http://www.natethip.com/news.php?id=543