
โรคระบาดในเด็กเล็กที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้ คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV พบมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุระหว่าง 2 เดือนถึง 2 ปี จะเเสดงอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มีเสมหะจำนวนมาก หายใจไม่สะดวก ก่อนลุกลามเป็นโรคหลอดลม หรือปอดอักเสบ แม้ว่าตัวเชิ้อไวรัส RSV จะไม่รุนแรงเเละสามารถหายได้เอง เเต่ภาวะเเทรกซ้อนที่จะตามมาด้วยนั้น คือ สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตดังที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก
การมี
ประกันสุขภาพเด็ก ที่คุ้มครองโรคฮิตในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, ตาแดง, มือเท้าปาก จะเพิ่มความอุ่นใจ เเละช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาดในเด็กเล็กเช่นนี้ วันนี้มีข้อมูลเชื้อไวรัส RSV มาฝากกัน
1. ไวรัส RSV คืออะไร ?เชื้อไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนเเละส่วนล่าง มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A, RSV-B เเละสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ A คือ ON1
เชื้อไวรัสดังกล่าวจะทำให้ร่างกายผลิตเสมหะเป็นจำนวนมาก ทำให้หายใจไม่สะดวก สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านละอองฝอย จากการไอหรือจาม และการสัมผัสเชื้อหรือสารคัดหลั่งผ่านทางตาหรือจมูก โดยเชื้อไวรัสมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง และสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที พบผู้ป่วยได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก เเต่มักพบอาการรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว มักพบระบาดในช่วงปลายฤดูฝน เเละฤดูหนาว
2. อาการ ไวรัส RSV “...ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีดหวิว และเสียงครืดคราด…”
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะปล่อยเชื้อไวรัสผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักโรค 3-5 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการ หรืออาจแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน เเละช้าที่สุดประมาณ 8 วัน อาการในระยะเเรกจะคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เเต่จะมีความรุนแรงแตกต่างตามวัยเเละความเสี่ยง โดยผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรง อาการจะไม่รุนเเรงเเละสามารถหายได้เอง เเต่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ จะจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อเชื้อไวรัส RSV
ทั้งนี้ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะแสดงอาการไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาเช่นในผู้ใหญ่หรือเด็กโต โดยจะเริ่มต้นจากการเป็นไข้หวัด และอาจลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้
3. กลุ่มเสี่ยง ไวรัส RSV 1. ทารกคลอดก่อนกำหนด
2. ทารกช่วงเดือนแรก
3. เด็กเล็กอายุไม่เกิน 2 ปี
4. เด็กอายุ 2-5 ปี
5. เด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ
6. ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ
4. วิธีรักษา ไวรัส RSV ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส RSV และไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV เน้นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก โดยในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลม หรือให้น้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก หรือเด็กบางรายที่มีอาการของหลอดลมตีบ จะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ดังนั้น หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากเชื้อไวรัส RSV และมีอาการหวัด มีเสมหะมาก ไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น เซื่องซึม หายใจเร็วกว่าปกติและมีเสียงหวีด ควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หากมีอาการไม่ร้ายเเรงสามารถรักษาตามอาการที่บ้านได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโรงพยาบาลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตในผู้ป่วยจากเชื้อไวรัส RSV และลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส RSV ให้แก่ผู้อื่นในโรงพยาบาล ทั้งนี้ อาการจะเริ่มดีขึ้นและหายได้เองภายใน 1 - 2 อาทิตย์
5. วิธีป้องกัน ไวรัส RSV เมื่อเด็กเล็กมีอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจ ควรแยกออกจากเด็กปกติทันที รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัว และควรหยุดเรียนอย่างน้อย 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น หมั่นล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส เพราะการล้างมือจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อไวรัส RSV และเชื้ออื่นๆ ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทุกชนิดที่ติดมากับมือได้มากถึงร้อยละ 70 ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย และแยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ หากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ
6. ค่ารักษา RSV ค่ารักษา RSV จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ วิธีการรักษา และโรงพยาบาลที่ให้การรักษา โดยเเพทย์จะตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น หากอาการไม่รุนแรงอาจจ่ายยาเพืิ่อรักษาตามอาการ เเละให้พักรักษาต่อที่บ้าน ในขณะที่อาจเสนอให้ Admit อย่างน้อย 2 - 5 วัน เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเพื่อความสะดวกในการรักษา และหัตถการ เช่น การดูดเสมหะ การพ่นยาขยายหลอดลม เเละการเคาะปอด ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 - 100,000 บาท
7. ผลข้างเคียงเมื่อหายจากเชื้อ RSV เมื่อรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อีก และมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV จะทําให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการบวมและเกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการอักเสบ อาจทําให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงวีดเมื่อได้รับการติดเชื้อครั้งต่อๆ ไป เเละอาการอาจคล้ายๆ เด็กที่เป็นโรคหอบหืด
นอกจากนั้นแล้ว ระบบทางเดินหายใจจะไวต่อไรฝุ่น ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ ทําให้ต้องรับยาพ่นขยายหลอดลม อย่างไรก็ตามภาวะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวร อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมือเวลาผ่านไป แต่ในเด็กหลายๆ คน มีพันธุกรรมด้านโรคหอบหืด ภูมิแพ้ อาจมีภาวะหลอดลมอักเสบเวลาเป็นหวัดอยู่นาน หรือกลายเป็นหอบหืดได้ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อไวรัส RSV ทําให้เกิดโรคหอบหืดโดยตรง ทั้งนี้การเกิดโรคหอบหืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมถึงปัจจัยทางกรรมพันธุ์ด้วย