GIT และ มศว เผยความสำเร็จการประชุมเชิงวิชาการ ECI for Smart Jewelry เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทจิวเวลรี่
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยความสำเร็จของการจัดประชุมเชิงวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry ภายใต้แนวคิด “Innovation for Smart Jewelry” ที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจจากมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อต่อยอดสินค้าอัญมณีให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น และกระตุ้นการปรับตัวของผู้ประกอบการ พัฒนาศักยภาพในการคิดค้น ต่อยอด วิจัยนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับการใช้ชีวิตในวิถีแบบนิวนอร์มอล โดยภายในงานมีกิจกรรมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมจิวเวลรี่จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมจัดแสดงผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับสมาร์ทจิวเวลรี่ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ณ อาคารนวัตกรรม: ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “สำหรับการจัดการประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจอัญมณีและกลุ่มธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ ร่วมด้วย สวอ. มศว และภาคเอกชน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในวิถีนิวนอร์มอล พร้อมช่วยพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการผ่านการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน รวมถึงมีการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมแนวทางใหม่ ซึ่งจะเกิดเป็นแนวคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในยุคดิจิตัล 4.0 และส่งผลทางมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว ผ่านกิจกรรมเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญชื่อดังแขนงต่างๆ จากหลากหลายประเทศที่มาร่วมระดมความคิด ต่อยอดความรู้เพื่อสร้างการรับรู้แขนงใหม่ในวงการอัญมณีไทยให้มีรูปแบบต่างจากเดิม พร้อมมีผลการวิจัยใหม่ๆ ของสมาร์ทจิวเวลรี่ มาจัดแสดงให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอัญมณีไทยเกิดการตื่นตัว ปรับตัว ก้าวตาม นำเทรนด์สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน สอดรับกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค และเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมเครื่องประดับไทยให้เติบโตสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลกในอนาคต”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยมีรากฐานจากธุรกิจแบบ OEM ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เอื้อต่อสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ผ่านการทำสินค้าที่มีลักษณะการใช้งานแบบ Functional Jewelry ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอลเพื่อสนองต่อผู้บริโภค มากไปกว่าการสวมใส่เพื่อความสวยงามหรือแสดงสถานะของผู้สวมใส่เพียงอย่างเดียว รวมถึงต้องช่วยยกระดับและสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นระบบสากล ซึ่ง มศว มองว่าการจัดการประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาบุคลากรในด้านระบบการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ พร้อมเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต-นักศึกษาในหลาย ๆ สถาบันฯ เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง และขยายต่อผลงานวิจัยในระดับสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ส่งเสริมการขาย การจ้างงาน และอื่นๆ”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยใหม่ๆ และนิทรรศการเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีสมาร์ทจิวเวลรี่เพื่ออนาคต และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดอัญมณี พร้อมสร้างความเป็นไปได้ของการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มตกแต่งบ้าน และกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการประชุมฯ เห็นถึงความเป็นไปได้และสามารถนำไปต่อยอดสินค้าของตัวเองได้ในอนาคต โดยมีเทคโนโลยีสมาร์ทจิวเวลรี่ที่น่าสนใจหลากหลายโครงการ เข้าร่วมจัดแสดงอยู่ภายในงาน เช่นโครงการทำการวิจัยในหัวข้อ Beyond Jewelry เพื่อทำให้เครื่องประดับมีคุณค่ามากกว่าการเป็นเพียงเครื่องประดับ อาทิ เครื่องประดับที่เป็นอุปกรณ์ฟอกอากาศในตัว อุปกรณ์แหวนป้องกันนิ้วล็อก และรองเท้าบู๊ตที่ช่วยซัพพอร์ตคนที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้สามารถเดินได้ในลักษณะที่สวยงามเสมือนเป็นเครื่องประดับ นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดแสดงสินค้า สมาร์ทจิวเวลรี่อีกหลากหลายจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ และผลงานวิจัยจากนิสิต อาทิหน้ากากแบบฝังพลอย-เพชร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากกว่าแค่หน้ากากธรรมดา และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย หูฟัง Acoustic Tone ที่ใช้โลหะในการทำเครื่องประดับมาทำหูฟัง เพิ่มคุณภาพเสียง นวัตกรรมการทำระบบบริหารจัดการการโชว์สินค้า โดยเครื่อง RFID หรือ การพิมพ์ภาพเพื่อถ่ายทอดลงบนเครื่องประดับจากผลงานวิจัยของนิสิตจากวิทยาลัยฯ หรือ E-Ink
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอีเมล contact.kithai@gmail.com